เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของการท่าเรือฯ ว่า ในการให้บริการเรือสินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564)
โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น สรุปได้ดังนี้ 1.ท่าเรือกรุงเทพ มีเรือเทียบท่า 1,961 เที่ยว ลดลง 0.81% สินค้าผ่านท่า 10.621 ล้านตัน ลดลง 3.65% ตู้สินค้าผ่านท่า 0.720 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลง 0.70% 2.ท่าเรือแหลมฉบัง มีเรือเทียบท่า 4,601 เที่ยว ลดลง 11.52% สินค้าผ่านท่า 43.588 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.10% ตู้สินค้าผ่านท่า 4.074 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 2.56%
3.ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน มีเรือเทียบท่า 1,129 เที่ยว ลดลง 36.39% สินค้าผ่านท่า 47,092.68 ตัน ลดลง 61.04% ตู้สินค้า ผ่านท่า 2,585 ที.อี.ยู. ลดลง 52.42% 4.ท่าเรือเชียงของ มีเรือเทียบท่า 4 เที่ยว ลดลง 97.24% สินค้าผ่านท่า 24 ตัน ลดลง 99.06% และ 5.ท่าเรือระนอง มีเรือเทียบท่า 2 เที่ยว เพิ่มขึ้น 100% สินค้าผ่านท่า 47,365 ตัน ลดลง 33.00% ตู้สินค้าผ่านท่า 1,661 ตู้ ลดลง 23.88%
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ กทท. ในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) มีทิศทางฟื้นตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีเรือเทียบท่าที่ ทกท. และ ทลฉ. รวม 6,562 เที่ยว ลดลง 8.57% สินค้าผ่านท่า 54.208 ล้านตัน ลดลง 0.66% และตู้สินค้าผ่านท่า 4.794 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 2.05% คิดเป็นกำไรสุทธิ 2,969 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.47% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี จากการขยายตัวของตู้สินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 2.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สืบเนื่องจากการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ประกอบกับหลายประเทศได้แจกจ่ายและฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับประชาชนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการผลิตส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น