‘สแกนเนีย’ เผยยอดขายปี 63 รถบรรทุก 297 คัน รถบัส 96 คันครองส่วนแบ่งตลาดรถบรรทุกในไทยร้อย 2.5 ส่วนรถบัสร้อยละ 20 วางเป้าหมายปี64 เป็นปีแห่งการฟื้นตัว-เร่งพัฒนาศักยภาพช่วยผู้ประกอบการไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ลุยเจาะตลาดกลุ่มลูกค้ามากขึ้น-เน้นตอบโจทย์ขนส่งทุกรูปแบบหวังรักษาเบรนด์ยอดขายอันดับ 1 เวทีรถใหญ่ยุโรปในไทยต่อเนื่อง ลั่นไตรมาส 2 พร้อมเปิดศูนย์ฯแห่งใหม่สระบุรี ชี้แม้หยุดผลิตโรงงานประกอบในไทยปรับกลุยทธ์ใหม่นำเข้าจากสวีเดนแต่ราคาเทียบเท่าการผลิตในไทย ยันไม่กระทบการให้บริการลูกค้าแต่อย่างใด
คุณสตีน่า เฟเกอร์แมน กรรมการผู้จัดการบริษัทสแกนเนีย สยาม จำกัด เปิดเผยว่า สแกนเนียยังคงวางแผนลงทุนเพิ่มศักยภาพทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์และงานบริการอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยในปี 2564 จะเป็นปีแห่งการพัฒนาเพื่อช่วยให้ลูกค้าฟื้นตัวได้เร็วที่สุดจากสถานการณ์ยากลำบากหลังการระบาดโควิด -19 อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ที่ผ่านมา สแกนเนียมีส่วนแบ่งการตลาดประเภทรถบรรทุกในประเทศไทยประมาณร้อยละ 2.5 และส่วนแบ่งตลาดรถบัสโดยสารในประเทศไทยถึงประมาณร้อยละ 20
“ตัวเลขทั้งสองตลาดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโดยมียอดขายรถบรรทุกสแกนเนียที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก 297 คัน และรถบัส 96 คัน ทำให้เห็นว่าสแกนเนียได้ทำตลาดให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยสแกนเนียเน้นตอบโจทย์การขนส่งทุกรูปแบบให้กับลูกค้ารถบรรทุก และยังรักษาความเป็นพันธมิตรธุรกิจเคียงข้างลูกค้ารถโดยสาร เพื่อรักษายอดขายและได้ขยายส่วนแบ่งการตลาดและเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของยอดขายในประเทศไทยต่อไปอย่างต่อเนื่อง”
ไตรมาส 2 พร้อมเปิดศูนย์ฯแห่งใหม่สระบุรี
คุณสตีน่า กล่าวอีกว่าสำหรับงานด้านบริการ สแกนเนียพร้อมกับการเปิดศูนย์บริการแห่งใหม่ที่จังหวัดสระบุรีที่จะเปิดให้บริการในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ศูนย์บริการแห่งนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีลูกค้านิยมใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 100 กิโลเมตรเท่านั้น อีกทั้งสระบุรีเป็นเหมือนประตูสู่ภาคอีสาน และธุรกิจขนส่งของลูกค้าเรามากมายผ่านเส้นทางนี้
“เราจึงตัดสินใจที่จะลงทุนเพิ่ม โดยสแกนเนียเป็นผู้บริหารจัดการด้วยตัวเราเอง (Captive Dealer) เพื่อมอบบริการที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ปัจจุบัน และเรายังมองศูนย์ฯ สระบุรีใหม่นี้ให้สามารถรองรับการเติบโตในอนาคตได้อีกด้วย อีกทั้งสแกนเนียยังมองการขยายให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลกับโครงสร้างพื้นฐานมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา คาดการณ์ว่าหลังวิกฤตโควิดจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
แม้นำเข้าจากสวีเดนแต่…ราคาเทียบเท่าผลิตในไทย
คุณสตีน่า ยังสะท้อนมุมมองถึงผลกระทบจากภาวะวิกฤตโควิดว่าการระบาดโรคไวรัสโคโรน่าได้ส่งกระทบกับทุกคนในทุกอุตสาหกรรมอย่างหนัก แม้แต่สแกนเนียสยามก็ไม่มีข้อยกเว้นโดยบริษัทฯได้หยุดดำเนินการผลิตที่โรงงานประกอบรถบรรทุกในเขตชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯเมื่อปีที่แล้ว และปรับกลยุทธ์ใหม่โดยเริ่มนำเข้ารถบรรทุกส่งตรงจากระบบการผลิตในสวีเดน
“ก่อนที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย ด้วยระบบการผลิตทั่วโลกของสแกนเนีย ทำให้มั่นใจได้ว่ารถของเราจะมีคุณภาพเหมือนกัน ไม่ว่าเราจะสร้างมาจากที่ไหนก็ตาม ที่สำคัญที่สุดคือรถที่ผลิตในสวีเดนจะมีราคาจำหน่ายเทียบเท่ากับการผลิตในประเทศไทย ไม่กระทบต่อการให้บริการลูกค้าแต่อย่างใด”
คุณสตีน่า ระบุต่อว่าสแกนเนีย สยามก่อตั้งในปี 1986 และครบรอบ 35 ปีในการทำตลาดในประเทศไทยในปีนี้ สแกนเนียสยามยังคงวางแผนที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีความมุ่งมั่นในระยะยาวต่อตลาดในประเทศไทย พร้อมมุ่งมั่นพัฒนางานบริการให้ดีขึ้น ให้รถลูกค้าพร้อมใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพิ่มผลกำไรธุรกิจขนส่ง ขับเคลื่อนสู่ระบบขนส่งที่ยั่งยืน “เพราะธุรกิจคุณ สำคัญที่สุด”
ปรับงานบริการให้โดนใจลูกค้ามากขึ้น
คุณสตีน่า ย้ำถึงงานบริการหลังการขายว่าลูกค้าสแกนเนียทุกรายจะได้รับข้อเสนอสเปครถและงานบริการหลังการขายที่เหมาะกับธุรกิจของลูกค้า ทำให้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาค่าซ่อมที่ไม่คาดคิด และให้รถของลูกค้ารับงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสแกนเนียยังได้ปรับงานบริการให้โดนใจลูกค้ามากขึ้นโดยการขยายเวลาเปิดศูนย์บริการถึง 22.00 น. (4 ทุ่ม) เพื่อรองรับการใช้บริการหลังเวลาปกติ (จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 17.00 น.)โดยเริ่มต้นจากที่ศูนย์บริการสาขาบางนา กม.19 (สำนักงานใหญ่) เป็นแห่งแรก ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสทางธุรกิจ และทางเลือกที่มากขึ้น อีกทั้งสแกนเนียยังมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉินที่พร้อมให้คำปรึกษา หรือออกให้บริการซ่อมนอกสถานที่ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
“ปี 2564 สแกนเนียสยาม ยังคงทำงานร่วมกับลูกค้าในการร่วมเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืนการขนส่งที่ยั่งยืน (Driving the shift towards a Sustainable transport system) เช่น การฝึกสอนนักขับรถบรรทุกและรถบัส เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมุ่งมั่นสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงพยายามผลักดันเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสแกนเนียมีความรู้และความพร้อมเกี่ยวกับระบบการขนส่งที่ยั่งยืนหลากหลายรูปแบบบนพื้นฐานหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.การใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ 2.ระบบขนส่งอัจฉริยะและปลอดภัย 3.รถพลังงานทางเลือกและพลังงานไฟฟ้า”
อย่างไรก็ตาม คุณสตีน่า กล่าวปิดท้ายว่าเราต้องการที่จะมั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจในเรื่องการใช้สแกนเนียแล้วสามารถลดมลพิษได้อย่างไร แน่นอนว่าการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ หรือความประหยัดน้ำมันของรถสแกนเนียคือหนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ตั้งแต่ตอนนี้ อีกทั้งสแกนเนียยังพร้อมที่จะเปลี่ยนสู่พลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกในรูปแบบต่างๆ ถ้าหากมีความต้องการจากตลาดประเทศไทยในอนาคต ซึ่งเราภูมิใจที่จะบอกว่ามันจะช่วยให้ลูกค้าได้กำไรไปพร้อมกับความยั่งยืน