กรมเจ้าท่า พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเดินทางทางน้ำ รองรับนโยบายรัฐบาล และกระทรวงคมคม ในการสร้างทางเลือกในการเดินทางและลดปัญหาการจราจรในกรุงเทพและปริมณฑลพร้อมพัฒนาตัวเรือ ท่าเรือ และการเดินเรือให้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดในรัชกาลที่ 3 ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ ปี พ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการระบายน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2532 กรุงเทพมหานคร ได้ให้บริษัท ครอบครัวขนส่ง 2002 จำกัด โดยนายชวลิต เมธยะประภาส เข้ามาเป็นผู้ประกอบการเดินเรือในคลองแสนแสบ และได้รับอนุญาต ให้เดินเรือประจำทางจากกรมเจ้าท่า โดยบริษัทฯ ได้เปิดให้บริการเดินเรือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 จนถึงปัจจุบัน โดยมีการการเดินเรือ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางการเดินเรือสายนอก ตั้งแต่ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง ถึง ท่าเรือประตูน้ำ จำนวน 23 ท่าเรือ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร และ เส้นทางการเดินเรือสายใน ตั้งแต่ท่าเรือประตูน้ำ ถึง ท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ จำนวน 5 ท่าเรือ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้กรมเจ้าท่า ได้มีนโยบายปรับปรุงและพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับความสะดวก ประหยัด และโดยเฉพาะความปลอดภัย ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการเดินทางทางน้ำในคลองแสนแสบ อาทิ
ตัวเรือ ได้มีการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบโครงสร้างเรือทั้งหมดในคลองแสนแสบ จากเรือขึ้น – ลงได้ตลอดลำ เป็นเรือขึ้น – ลงกลางลำ เพื่อความปลอดภัยในการขึ้น – ลง เรือของผู้โดยสาร กำหนดให้เรือทุกลำต้องติดตั้งระบบบอกตำบลที่เรือ (GPS) เพื่อติดตามการเดินเรือในคลองแสนแสบ ให้เกิดความปลอดภัย และควบคุมความเร็วของเรือ ไม่ให้เกินที่เจ้าท่าประกาศกำหนด พร้อมพัฒนา เรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบ เรือมีความเร็วสูงสุด คือ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง และบรรจุผู้โดยสาร ได้จำนวน 100 คน เพื่อประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ท่าเรือ ปรับปรุงท่าเรือต่าง ๆ เป็น SMART PIER เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัยในขณะพักคอยที่ท่าเทียบเรือ ติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั้งหมด 28 ท่าเรือ เพื่อติดตาม กำกับ ดูแลความปลอดภัย และเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางน้ำ จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและตรวจตราความปลอดภัยประจำท่าเรือ ทุกท่าเทียบเรือ ติดป้ายคำเตือนด้านความปลอดภัยในการโดยสารทางเรือ และช่องทางการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือ โทร. 1199 ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำท่าเรือ ทุกท่าเทียบ
การเดินเรือ กำหนดเขตควบคุมการเดินเรือในคลองแสนแสบ ประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2563 เพื่อกำหนดความเร็วให้สะท้อนกับสภาพการให้บริการที่เป็นจริง โดยการเดินเรือสายในฯ จำกัดความเร็วที่ 22 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือ 12 น็อต และสายนอกฯ จำกัดความเร็วที่ 28 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือ 15 น็อต ติดตั้งป้ายเครื่องหมายกำหนดควบคุมความเร็ว ป้ายเตือนทางแยกทาง และทางร่วมทางน้ำ ตามจุดต่าง ๆ พร้อมจัดสายตรวจทางน้ำ (Jet Ski) เพื่อเฝ้าระวังเหตุและช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า การเดินเรือโดยสารในคลองแสนแสบเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญเส้นทางหนึ่งที่รองรับ การเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เข้ามาสู่ศูนย์กลางของกรุงเทพ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนที่การจราจรทางบกมีการติดขัดและใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างมากทำให้ประชาชนมาใช้บริการเรือโดยสารในคลองแสนแสบเป็นจำนวนมาก โดยจุดเริ่มต้นอยู่ระหว่างท่าเรือวัดศรีบุญเรือง เขตบางกะปิ ถึงท่าเรือประตูน้ำ เขตราชเทวีและเชื่อมต่อไปยังท่าเรือสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร กรมเจ้าท่า ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อดำเนินโครงการศึกษาออกแบบและจัดหาเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการจัดจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการโครงการจัดหาระบบเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบ เพื่อประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเรือไฟ้ฟ้าต้นแบบในคลองแสนแสบ ยาว 20.20 เมตร กว้าง 3.00 เมตร ลึก 1.45 เมตร น้ำหนักเรือเบา เท่ากับ 10.31 ตัน น้ำหนักเรือเมื่อบรรทุกเต็มที่ 19.31 ตัน บรรทุกคนโดยสารได้ จำนวน 100 คน สามารถทำความเร็วได้ไม่น้อยกว่า 20 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เส้นทางการเดินเรือระหว่างท่าเรือประตูน้ำ ถึง ท่าเรือสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน 19 ล้านบาท (14.90 ล้านบาท สำหรับการจัดต่อสร้างเรือพลังงานไฟฟ้า)
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่า ได้ประสานการดำเนินการกับบริษัท ครอบครัวขนส่ง 2002 จำกัด ผู้ประกอบการเดินเรือในคลองแสนแสบแล้ว แบ่งแผนการดำเนินการจัดการยกระดับความปลอดภัยฯ ในคลองแสนแสบ ออกเป็น 3 ระยะ
ระยะสั้น เป้าหมาย : ระยะ 1 ปี (มกราคม 2563 – ธันวาคม 2563) ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเห็นผลแล้ว ต่อมาระยะกลาง เป้าหมาย : ระยะ 2 ปี (มกราคม 2564 – ธันวาคม 2565) ติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทุกท่าเรือในคลองแสนแสบ ปรับปรุงท่าเรือ เพื่อเพิ่มพื้นที่พักคอยให้แก่ผู้โดยสารรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น จำนวน 2 ท่าเรือ (ท่าเรืออโศกและท่าเรือประตูน้ำผ่านฟ้าลีลาศ) ต่อสร้างเรือเหล็ก รูปแบบเรือขึ้น – ลงกลางลำเพื่อความปลอดภัยในการให้บริการ ต่อสร้างเรืออลูมิเนียมระบบไฮบริด โดยใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานขับเคลื่อน รูปแบบเรือขึ้น – ลงกลางลำ เพื่อประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (แล้วเสร็จ 1 ลำ มิถุนายน 2564) นำผลการทดลองเดินเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบของกรมเจ้าท่าในคลองแสนแสบ มาปรับปรุงเรือในคลองแสนแสบให้เป็นเรือโดยสารไฟฟ้า จำนวน 1 ลำ
และระยะยาว เป้าหมาย : ระยะ 4 ปี (มกราคม 2566 – ธันวาคม 2569) ปรับปรุงท่าเรือโดยเพิ่มพื้นที่พักคอยให้แก่ผู้โดยสารรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น ให้แล้วเสร็จทั้งหมดจำนวน 28 ท่าเรือ ต่อสร้างเรือเหล็ก รูปแบบเรือขึ้น – ลง กลางลำเพื่อความปลอดภัยในการให้บริการให้แล้วเสร็จทั้งหมด จำนวน 24 ลำ ต่อสร้างเรืออลูมิเนียมระบบไฮบริด โดยใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานขับเคลื่อน รูปแบบเรือ ขึ้น – ลง กลางลำ เพื่อประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จทั้งหมดจำนวน 36 ลำ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเรือโดยสารในคลองแสนแสบได้ดำเนินการตามแผนระยะสั้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลือในการดำเนินการในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งกรมเจ้าท่าจะติดตามผลการดำเนินการของผู้ประกอบการเดินเรือในคลองแสนแสบตามแผนฯ ต่อไป