TTLA ฝ่าคลื่นพายุ Transportation disruption จัดงานประชุมใหญ่ประจำปี 2562 ขึ้นภายใต้แนวคิด NANY TTLA AGM สร้างความตระหนักรู้ให้กับมวลสมาชิก อะไร?คือโอกาส หายนะ และภัยคุกคามจากแรงพายุ disruption ชี้หมดยุค “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”หันหน้าสู่ยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า” ย้ำไม่ปรับตัว-รวมตัวรอเวลา “ปลาฉลามกินเรียบ”
โดยมีค่ายรถยักษ์ใหญ่ ISUZU เป็นสปอนเซอร์หลัก พร้อมค่ายรถใหญ่อื่นๆ ตลอดถึงบริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์ร่วมออกบูธแสดงสินค้าและกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง ณ โรงแรมซีไพน์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 11 ม.ค.63 ที่ผ่านมา
ในโอกาสนี้ คุณนพพร เทพสิทธา คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมเป็นวิทยากรทรงคุณวุฒิบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “Transportation disruption โอกาสหรือหายนะ”? อีกด้วย
ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย เปิดเผยกับTrans Time ว่าการจัดประชุมใหญ่ TTLA ครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่การจัดงานที่ได้แนวคิด รูปแบบ และการบริหารจัดการที่ตกผลึกจากมันสมองคนรุ่นใหม่ในรูปแบบคณะกรรมสมาคมฯ ซึ่งงานนี้ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานตามครรลองและธรรมเนียมปฏิบัติของ TTLA
“การจัดงา่นครั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่าอะไรคือโอกาส หายนะ และภัยคุกคามจากแรงพายุของ Transportation disruption เพื่อเป็นแนวทางให้กับมวลสมาชิกได้รับรู้และปรับตัวให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงตามแรงโน้มถ่วงเทคโนโลยีโลก ที่นับวันยิ่งถาโถมใส่ผู้ประกอบการขนส่งไทยอย่างหนักหน่วง เราจะมองว่าธุรกิจส่งด่วนเป็นเรื่องไกลตัวต่อไปไม่ได้แล้ว ที่เมื่อก่อนเรามองว่าเป็นยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาใหญ่คือผู้ประกอบการที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและการเข้าถึงตลาดก็จะได้เปรียบมากกว่า ถึงกระนั้นยุคนี้ทั้งปลาใหญ่และปลาเล็กก็ยังอยู่กันได้”
ดร.ชุมพล กล่าวต่อว่าแต่ทุกวันนี้พอมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มมีเทคโนโลยีสมัยใหม่และโซเชียลมีเดียเข้ามีบทบาทและอิทธิพลอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ มันก็กลายเป็นว่า“ปลาเร็วกินปลาช้า”แล้ว ความหมายก็คือว่าปลาเร็วคือผู้ประกอบการที่ปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อโซเชียลทันสมัยให้เป็นประโยชน์ในการรับงาน
“เราจะเห็นได้จากกลุ่มเจ้าของรถบรรทุกป้ายดำตั้งกลุ่มรับงานขนส่งทั่วราชอาณาจักรในสื่อโซเชียล เพื่อสร้างโอกาส งาน และรายได้ให้กับตัวเอง กลุ่มเหล่านี้ได้เปรียบในแง่ต้นทุนไม่สูงมากนัก ทำให้สามารถเรียกราคาค่าขนส่งต่ำได้ เป็นอีกช่องทางเลือกหนึ่งของผู้ว่าจ้าง ขณะที่บริษัทขนส่งและกลุ่มขนส่งอื่นๆก็เร่งปรับตัวโดยใช้รูปแบบแพลตฟอร์มขนส่งเพื่อสร้างเลือกและตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่”
ถึงกระนั้นก็ยังแพ้ “ปลาฉลามกินเรียบ”อยู่ดี คือผู้ประกอบการที่สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีแพลตฟอร์ม และระบบการบริการจัดการทันสมัย และต่อยอดกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆได้ เช่น คนอยู่ในแวดวงโลจิสติกส์แต่สามารถต่อยอดกับเจ้าของสินค้า หรือแม้แต่สถาบันการเงินต่างๆได้ เกิดเป็นการผนึกกำลังที่แข่งแกร่งและคงศักยภาพสูงเป็นอย่างมากภายใต้คอนเซ็ปต์ “ถูก เร็ว ดี” ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า เมื่อเป็นเช่นนี้ในมิติค่าขนส่งเขาไม่คิดราคาเลยก็ได้ยกให้เป็นของแถมฟรี นี้คือ“ปลาฉลามกินเรียบ” ถ้าในมิตินี้เราจะแข่งขันกับเขาลำบากมาก
ดร.ชุมพล สำทับว่าแต้มต่อที่ว่าของเรา “ถูกกว่า”ที่เมื่อก่อนเราเคยใช้เดินเกมก็ยังพอสู้ได้อยู่บ้าง แต่พอเกิดการผนึกพันธมิตรกลุ่มธุรกิจต่างๆที่ว่ามานี้ กลายเป็นว่าของเขาถูกกว่า ดีกว่า และเร็วกว่าแถมฟรีค่าขนส่งอีกต่างหาก แล้วเรารายเล็กๆจะอยู่กันยังไง
“นี่คือเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่ผู้ประกอบขนส่งต่างๆต้องตระหนักรู้และปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้ทันสมัย น่าเชื่อถือ สามารถรับงานจาก App หรือ Platform รูปแบบใหม่ได้ ยกระดับความเป็นมืออาชีพผ่านมาตรฐานต่างๆ เช่น QMark และ ISO เป็นต้น ตลอดถึงการรวมตัวกันทำงานแบบเป็นเครือข่าย เช่น รับงานร่วมกัน ใช่ฟลีทรถร่วมกัน และใช้โกดังร่วมกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและแต้มต่อได้บ้างไม่งั้นจะแข่งขันลำบาก”
อย่างไรก็ดี ดร.ชุมพล ได้ฝากข้อแนะนำถึงภาครัฐว่าเมื่อเป็นเช่นนี้รัฐเองก็ต้องลงมากำกับควบคุมให้การแข่งขันเกิดความเป็นธรรม ตลอดถึงการพัฒนา ส่งเสริม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการขนส่งไทย อีกทั้งยังต้องช่วยแก้ไขความเดือดร้อน และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตาม disruption