การรถไฟฯนำร่องเปิดให้บริการขนส่งพัสดุรายย่อยประเภทหีบห่อวัตถุเส้นทางสายใต้ ดีเดย์ 18 ก.ค.นี้ คิดค่าบริการพิเศษ ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน และผู้ประกอบการ ประหยัดค่าขนส่งกว่า 50-70% พร้อมส่งถึงสถานีปลายทางภายใน 24 ชม.
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าจากสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน การรถไฟฯจึงได้ดำเนินมาตรการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่คนไทย โดยนำร่องเปิดให้บริการขนส่งสินค้าพัสดุรายย่อย ประเภทหีบห่อวัตถุไปกับขบวนรถสินค้าเส้นทางสายใต้แบบราคาประหยัด เพื่อช่วยให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงเอสเอ็มอี มีต้นทุนการขนส่งที่ถูกลง เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
สำหรับสินค้าที่จะใช้บริการขนส่งดังกล่าวจะต้องบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด แข็งแรง ขนาด (กว้าง X ยาวX สูง) ไม่เกิน 2.50×1.00×0.80 เมตร หรือมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตร และสูงไม่เกิน 1 เมตร มีน้ำหนักไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อชิ้น และเป็นสินค้าที่ไม่เน่าเสียง่าย เช่น สิ่งของ อะไหล่ เสื้อผ้า อาหารแห้ง สำหรับอัตราค่าบริการ เริ่มต้นจากสถานีต้นทางถึงปลายทาง ที่ 50 บาท ต่อน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ไปจนถึงสูงสุด 470 บาท ต่อน้ำหนัก 200 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าขนส่งทางถนน จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า 50-70% นอกจากนี้ ยังได้รับประกันความเสียหายของสินค้าที่เกิดจากการขนส่งตามระเบียบของการรถไฟฯ อีกด้วย
ทั้งนี้ การรถไฟฯ พร้อมเปิดให้บริการรับส่งพัสดุเป็นประจำทุกวัน เริ่มจากย่านสถานีรับส่งสินค้าพหลโยธิน จนถึงสถานีหาดใหญ่ อีกทั้งยังเปิดรับส่งสินค้าระหว่างทางที่สถานีชุมพร สุราษฎร์ธานี ชุมทางทุ่งสง ชุมทางหาดใหญ่ โดยใช้เวลาขนส่งจากต้นทาง ถึงปลายทางภายใน 24 ชั่วโมง ผู้สนใจสามารถใช้บริการรับส่งสินค้าได้ที่ย่านสถานีรับส่งสินค้าพหลโยธิน (ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อ ด้านตรงข้ามตลาด อตก.) ตั้งแต่เวลา 08.00 – 21.00 น. หมายเลขโทรศัพท์ 084-2694161 และสถานีชุมพร สุราษฎร์ธานี ชุมทางทุ่งสง ชุมทางหาดใหญ่ ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า นอกจากการเปิดบริการขนส่งสินค้าแบบพัสดุรายย่อยเส้นทางสายใต้แล้ว การรถไฟฯ ยังได้เตรียมขยายการให้บริการขบวนรถพิเศษรับ-ส่งสินค้า ทั้งแบบเหมาขบวน และการพ่วงไปกับขบวนรถชนิดต่าง ๆ เพิ่มเติมอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อรองรับความต้องการการใช้บริการขนส่งทางรางที่เพิ่มขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองนำร่องเส้นทางสายใต้ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
“การขยายบริการรับส่งสินค้าและพัสดุทางรถไฟ นอกจากจะเป็นทางการเลือกในการช่วยลดค่าครองชีพในการขนส่งสินค้าแก่ประชาชน และผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยสนองตอบความต้องการของผู้ใช้บริการที่มีแนวโน้มหันมาขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของการรถไฟฯ ที่มุ่งส่งเสริมการปรับโหมดการขนส่งจากถนนสู่ระบบราง และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าเข้ากับฐานการผลิตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของประเทศ เนื่องจากการขนส่งทางราง ถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ท้ายนี้ การรถไฟฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงข่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้า โดยได้มีการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางรถไฟสายใหม่ รวมถึงจัดหาหัวรถจักรรุ่นใหม่เข้ามา เพื่อขยายเครือข่ายการขนส่งให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียนในอนาคตอันใกล้