ทช. สร้างสะพานข้ามคลองดู อ.ละงู จ.สตูล เชื่อมเกาะสู่แผ่นดินใหญ่ คืบหน้ากว่า 75% คาดแล้วเสร็จต้นปี 66
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองดู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งปัจจุบันผลการดำเนินงานมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 75 ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางคานสะพานและติดตั้งแผ่นพื้นสะพานช่วงกลางน้ำ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงต้นปี 2566
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า จากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทั่วทุกภูมิภาค สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและประมง ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ ประกอบกับ จังหวัดสตูลได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนบ้านสุไหงมูโซ๊ะ หมู่ที่ 5 ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ว่าหมู่บ้านมีสภาพพื้นที่เป็นเกาะตั้งอยู่ใกล้กับบ้านตันหยงละไน้ หมู่ที่ 1 บนฝั่งแผ่นดินใหญ่ ยังไม่มีถนน/ไฟฟ้า ทำให้การเดินทางระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากการเดินทางด้วยเรือต้องอาศัยจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเลและเสี่ยงภัยคลื่นลมในช่วงมรสุม
จังหวัดสตูลจึงขอให้ ทช.พิจารณาสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างสะพานข้ามคลองดู แต่เนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนจังหวัดสตูล ตอนที่ 1 จึงจำเป็นต้องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี เพื่อขอใช้พื้นที่สำหรับดำเนินโครงการ โดยได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบ จากนั้นในปี 2563 ทช.จึงได้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองดู อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 291 ล้านบาท
มีจุดเริ่มต้นของโครงการจากแยกทางหลวงชนบทสาย สต.3018 จังหวัดสตูล กม.ที่ 18+378 (ฝั่งบ้านตันหยงละไน้) และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้ามัสยิดอัลมุตตกีน (ฝั่งบ้านสุไหงมูโซ๊ะ) โดยก่อสร้างเป็นสะพานแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 1,320 เมตร พร้อมก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กต่อเชื่อม ยาว 1,742 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ ระยะทางรวม 3,062 เมตร
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชนบนเกาะบ้านสุไหงมูโซ๊ะ ให้สามารถเดินทางเชื่อมระหว่างเกาะกับบนฝั่งแผ่นดินใหญ่บ้านตันหยงละไน้ได้อย่างสะดวกรวดเร็วปลอดภัย ประหยัดเวลาในการเดินทางหากมีเหตุฉุกเฉินหรือการอพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติในอนาคต