หลังจากกระแสข่าวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาแรงทั่วโลก ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งตีกรอบแผนงานมุ่งหน้าไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้ามาทดแทนรถเครื่องยนต์สันดาป ที่ว่ากันว่า สร้างมลภาวะเป็นพิษให้แก่โลกที่สวยงาม
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ไฟเขียวมาตรกระตุ้นและจูงใจ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยมาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษีและเป็นการจำกัดสิทธิให้เฉพาะกับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) เท่านั้น ซึ่งมีการแบ่งกรอบเวลาการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วงๆ ละ 2 ปีได้แก่ ปี 65-66 เน้นสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเป็นวงกว้าง โดยครอบคลุม ทั้งการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์นั่งและรถกระบะ) และรถจักรยานยนตไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันปี 67-68 เน้นส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมานี้ถือเป็นหนึ่งในหนทางที่จะไปสู่เป้าหมายระยะยาวที่ประกาศไว้ว่าภายในปี 73 รัฐบาลตั้งเป้าจะเพิ่ม สัดส่วนปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า) คิดเป็น 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ
ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นฐานผลิต ยานยนต์ที่สำคัญ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยปี 64 มียอดผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1,685,705 คัน และยอดผลิตรถจักรยานยนต์ ซึ่งนับรวมทั้ง รถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) และ ชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) อยู่ที่ 2,309,474 คัน
เบื้องต้นทางฝ่ายประเมินการ มองว่า การออกมาตรการครั้งนี้แม้จะมีแรงจูงใจให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หากแต่เป้าหมายระยะยาวที่ทางฝ่ายมองกลับเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมายาวนาน สะท้อนจากเงื่อนไข สำหรับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ที่จะเข้าร่วมมาตรการนี้จะต้องทำการผลิตชดเชยจำนวนรถที่นำเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศ (Complete Built Up; CBU) ระหว่างปี 65-66 ภายในปี 67 (หากจำเป็นต้องขยายเวลา สามารถทำได้ถึงปี 68) ทั้งนี้จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า นั่นคือ นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน โดยสามารถผลิตรถยนต์ BEV รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถยนต์ที่มีราคาขายปลีก ราคา 2 ล้านบาท ไม่เกิน 7 ล้านบาท จะต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามาในประเทศไทย
รายละเอียดมาตรการภาษียานยนต์ไฟฟ้า แบ่งตามประเภทยานยนต์ได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
รถยนต์โดยสารที่นั่ง ไม่เกิน 10 คน ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยมีสิทธิประโยชน์ คือ 1. ลดภาษีศุลกากรขาเข้าสูงสุด 40% สำหรับการนำรถยนต์เข้ามาจำหน่ายในระหว่างปี 65-66 2. ลดภาษีสรรพสามิตจาก8% เป็น 2% ในระหว่างปี 65-68 3. เงินอุดหนุนจากรัฐบาลในระหว่างปี 65-68 ขึ้นอยู่กับ ความจุแบตเตอร์รี่ถยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็น ความจุแบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 kWh รัฐบาลให้เงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน ความจุแบตเตอรี่มากกว่า 30 kWh ขึ้นไป รัฐบาลให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน
รถยนต์โดยสารที่นั่ง ไม่เกิน 10 คน ราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยมีสิทธิประโยชน์ คือ 1.ลดภาษีศุลกากรข้าเข้าสูงสุด 20% สำหรับการนำรถยนต์เข้ามาจำหน่ายในระหว่างปี 65-66 2.ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% ในระหว่างปี 65-68
รถกระบะ ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยมีสิทธิประโยชน์ คือ 1.ลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0% ในระหว่างปี 65-68 2.เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 150,000 บาท ในระหว่างปี 65-68 สำหรับ BEV แบตเตอรี่ 30 kWh เฉพาะรุ่นที่ผลิตในประเทศ
รถจักรยานยนต์ ราคาขายปลีกแนะน่าไม่เกิน 150,000 บาท โดยมีสิทธิประโยชน์ คือ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล18,000 บาทต่อคัน ทั้ง CKD และ CBU ในระหว่างปี 65-68
สำหรับโอกาสการลงทุนในหุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากมาตรการภาษีนั้น เนื่องด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ค่อนข้างยาว ดังนั้นผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว จึงมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ในเวลาที่ต่างกัน
ทั้งนี้หากพิจารณาตามช่วงเวลาการออกมาตรการ ทางฝ่ายประเมินว่าช่วง 2 ปีแรก (ปี 65-66) ซึ่ง เป็นช่วงที่ค่ายรถจะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันจากต่างประเทศมาทำการตลาดและจำหน่ายภายในประเทศ พร้อมทั้งจัดโปรโมชั่นกระตุ้นจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อแทนรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป ดังนั้นบริษัทที่คาดจะได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผู้ให้บริการสถานีชาร์จพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger ซึ่งปัจจุบันเริ่ม มีการทยอยติดตั้งมากขึ้นแล้ว อาทิ สถานีบริการน้ำมัน, ที่จอดรถตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ